ขายอะไรก็ดี ถ้ามีคนซื้อ


%e0%b8%82%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b8%81%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b8%96%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b8%84%e0%b8%99%e0%b8%8b%e0%b8%b7%e0%b9%89%e0%b8%ad
0

ขายอะไรก็ดี ถ้ามีคนซื้อ

        “ขายอะไรก็ดีทั้งนั้น ถ้ามีคนซื้อ "  คำตอบง่ายๆจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลังสุภาพสตรีชาวจีนคนหนึ่งถามท่านว่าต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อทำมาค้าขาย ซึ่งบรรดาญาติๆของเธอพากันเสนอแนะว่าควรจะขายอะไรตามแต่สิ่งที่แต่ละคนคิดว่าน่าจะขายดี ตนจึงมีความลังเลใจตัดสินใจเองไม่ได้ว่าจะขายของอะไร จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำจะให้ขายอะไรจึงจะดี

        คำตอบของหลวงปู่ นอกจากสุภาพสตรีชาวจีนคนนั้นแล้วหลายคนคงคิดเหมือนกันว่า พูดง่ายแต่ทำยาก การขายของซึ่งจะขายอะไรก็ตาม หากมีคนซื้อย่อมดีอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือจะรู้ได้อย่างไรว่า ของอะไร ชนิดไหน ที่ขายแล้วคนจะซื้อ มีเคล็ดลับการลงทุนอย่างไรไม่ให้เจ๊ง ?

เคล็ดไม่ลับจากบรรดามหาเศรษฐี

          จะเห็นว่าบรรดามหาเศรษฐีทั้งชาวไทยและระดับโลก ล้วนเติบโตร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจค้าขายแทบทั้งสิ้น  ไม่ว่า เจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือซี.พี.  หรือ ผู้ครองบัลลังก์แชมป์โลกรวยอันดับ 1 ล่าสุดเป็นปีที่ 16 ในรอบ 21 ปีอย่าง บิล เกตส์


เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของเครือซี.พี : เล่นในเกมของเรา

           มีเคล็ดไม่ลับที่เจ้าสัวธนินท์ เคยย้ำไว้หลายครั้งในการทำธุรกิจ คือ การลงทุนอะไรก็แล้วแต่ต้องรู้จุดอ่อน  มีคนถามว่าจุดเริ่มต้นของซีพีในการเข้าไปลงทุนในประเทศจีน ทำไมเวลานั้นไม่เลือกขายเนื้อหมูหรือไข่ไก่ที่คนจีนบริโภคเยอะแทนที่จะขายไก่เนื้อ  คำตอบของมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินกว่า 4 แสน 8 หมื่นล้านบาท คือ เวลานั้นรัฐบาลได้ช่วยเหลือด้านการเงินต่อสินค้าเกษตรนี้อยู่แล้ว ซีพีจึงมองหาสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น เนื้อไก่ ที่การบริโภคยังน้อยและรัฐบาลสนับสนุน

          "  ซีพีถ้าเราเอาไก่ซีพีไปติดยี่ห้อไก่เคเอฟซี เราก็แพ้เขาอยู่แล้ว ต้องมาดูว่าเรากำลังขายไก่ชนิดไหน เขาทำสำเร็จแล้ว ถ้าเราจะคิดไปสู้กับเขาจะเสียเวลาเปล่า อย่าไปแข่งในตลาดที่คนอื่นเขาครองตลาดอยู่แล้ว ต้องเลือกว่าอะไรที่สามารถสู้ได้ไปสู้กับเขา  "  นี่คือหลักคิดของเศรษฐีอันดับหนึ่งของเมืองไทยในการลงทุนขายของไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินไป

 

 

บิล เกตส์ เจ้าของไมโครซอฟท์ บริษัทซอฟแวร์ยักษ์ใหญ่ : การให้อย่างไม่หวังผล  

         มาดูในส่วนของมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง บิล เกตส์ กันบ้าง ถึงแม้จะลาออกจากซีอีโอของไมโครซอฟท์มาตั้งแต่ปี 2551 แต่มัลคอล์ม เกลดเวลล์ นักเขียนจากวารสารเดอะนิวยอร์กเกอร์ กลับเชื่อว่าอีก 50 ปีข้างหน้าผู้คนจะจดจำบิล เกตส์ ในขณะที่สตีฟ จ็อบส์ ซีอีโอของบริษัทแอปเปิลจะถูกลืมเลือน  อะไรทำให้นักเขียนระดับ Best Sellers หลายเล่มคิดและเชื่อมั่นเช่นนั้น

          เกลดเวลล์ ได้หยิบเอาเรื่องงานการกุศลของเกตส์มารองรับความคิดของตนเอง ทั้งยังเชื่ออีกว่าจะมีอนุสาวรีย์ของเกตส์ตามประเทศโลกที่สามจำนวนมากมาย 

          บิล เกตส์ อุทิศเวลาของตัวเองให้กับมูลนิธิ Bill & Melinda Gates Foundation  ซึ่งเป็นมูลนิธิที่เขาและภรรยาตั้งขึ้น โดยบริจาคเงินเกือบเก้าแสนล้านบาท และใช้ความเป็นนักธุรกิจตัวยงของเขาในการบริหารมูลนิธิ ใช้หลักการของการลงทุนเพื่อที่จะให้เงินที่ใช้ไปนั้นให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็คือเกิดผลกระทบต่อผู้คนมากที่สุด มูลนิธิมีโครงการช่วยเหลือที่เน้นไปในปัญหาด้านสุขภาพ ความยากจนและการศึกษา

 

การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ใช่จากใคร แต่เป็นจากตัวเรา

          ด้วยความเชื่อมั่น และตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดียิ่งขึ้น บิลเกตส์ได้ชักชวนให้คนอื่นๆโดยเฉพาะบรรดาเศรษฐีร่วมบริจาคเงินเพื่อการกุศลด้วยเช่นกัน แล้ววอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าพ่อตลาดหุ้น บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอีกคนหนึ่งก็ได้ตกลงที่จะบริจาคเงินให้กับมูลนิธิของเกตส์โดยมีเงื่อนไขคือมูลนิธิจะต้องใช้เงินเท่าๆกับเงินที่เขาบริจาคไปในแต่ละปี ซึ่งมีผลเท่ากับทำให้งบประมาณในแต่ละปีของมูลนิธิเพิ่มเป็นสองเท่า

          ซึ่งโครงการนี้มีผู้สนใจเป็นอย่างมาก มีผู้ร่วมโครงการให้คำสัญญาว่าจะบริจาคเงินรวมกันแล้วเกือบสี่ล้านล้านบาท ผู้ร่วมโครงการผู้เป็นบุคคลสำคัญที่เรารู้จักกันดีอีกคน คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก  และนี่คือสิ่งที่ เกลดเวลล์ พยายามชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เกตส์ทำนั้นมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อคนทั่วโลกอย่างไร และทำให้ในระยะยาวคนจะจดจำเกตส์ได้อย่างไม่ต้องสงสัยจริงหรือไม่ ?

 ก่อนจะไปขายของใคร ให้รู้จักสินค้าตัวเองให้ดีก่อน

          จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าหลักคิดการลงทุนของอดีตเจ้าพ่อไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทางธุรกิจหรือการกุศล ย่อมหนีไม่พ้นวิธีการใช้เงิน การคิดถึงการนำเม็ดเงินไปใช้ต้องคุ้มค่าและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ฉะนั้นคำถามที่ว่าขายอะไรดี ไม่ควรแค่จะคิดเพียงฉาบฉวย ไม่ผ่านการไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วน ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะเป็นเพียงข้าวเหนียวส้มตำ หมูปิ้ง ไก่ทอด หากเงินสำหรับคนบางคนแล้วแม้ไม่มากถึงหลักหมื่น หลักแสนแต่เงินหลักร้อยหรือหลักพันก็อาจหมายถึงชีวิตทั้งชีวิตของใครบางคนก็เป็นไปได้

           ในธุรกิจแน่นอนว่าการลงทุนคือความเสี่ยง นั่นจึงเป็นเสมือนการเตือนให้นักธุรกิจควรจะระมัดระวัง คิดอ่านวางแผนอย่างรอบด้าน  สำรวจพื้นที่ ตรวจตราตลาด ประเมินผลได้เสีย ความคุ้มค่า และหากศึกษาคำแนะนำที่ว่า ขายอะไรก็ดี ถ้ามีคนซื้อ จะเห็นว่ามีความเกี่ยวโยงต่อหลักการตลาดในปัจจุบัน ที่มองว่าการจะขายสินค้าสักชิ้นหนึ่ง จะต้องทำการวิจัยว่ากลุ่มลูกค้าที่แวดล้อมคุณนั้นคือกลุ่มไหน มีความต้องการอย่างไร มุมมองทางการตลาดนี้สะท้อนให้คุณเห็นว่า ประโยคดังกล่าวไม่ใช่คำยียวน ยอกย้อน ถ้านำมาคิดให้ดีจะรู้ว่าแฝงไปด้วยคำสอน ชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมให้เราได้เห็นความจริงตรงตามความเป็นจริง

0