การศึกษาออนไลน์ผ่าน mobile device ได้ผลหรือไม่?


Post
2

การศึกษารูปแบบใหม่อย่าง Online learning ที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไรก็ได้ และเรียนตามความเร็วของตัวเอง เป็นรูปแบบการศึกษาที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในระดับสากล ในยุคปัจจุบัน การศึกษาออนไลน์ก็ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง จากการที่อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (mobile device) เช่น แทบเล็ต และสมาร์ทโฟน ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เสมือนกับว่าเรามีห้องเรียนติดดัวอยู่ตลอดเวลา เพียงแค่คลิกก็สามารถเรียนได้แล้ว เทรนใหม่นี้ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ผลตอบรับของผู้เรียนช่องทางออนไลน์เป็นอย่างไร? ผู้เรียนจะมีแรงจูงใจในการเรียนเช่นเดียวกันกับการเรียนในห้องเรียนหรือไม่? และท้ายที่สุด มันได้ผลจริงๆหรือไม่? วันนี้เรามีผลวิจัยที่จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยไขกระจ่างเรื่องที่เราสงสัยกัน

 

 

สถาบันการศึกษาระดับโลกอย่าง McGraw-Hill Education ที่พวกเราอาจคุ้นตาจากหนังสือเรียนหลายๆเล่มที่เราใช้อยู่ในห้องเรียน ได้ทำผลสำรวจจากการสอบถามนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับสูง เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ mobile device ในการเรียนรู้ โดย McGraw-Hill ค้นพบว่า 81% ของนักเรียนเหล่านี้ใช้ mobile device ในการเรียน และที่สำคัญ 85% กล่าวว่าการศึกษาออนไลน์ทำให้เกรดเฉลี่ยของเขาสูงขึ้น ผลวิจัยนี้จึงนับเป็นเครื่องยืนยันอย่างนึงว่าการศึกษาออนไลน์มีผลลัพธ์ที่ดีต่อการเรียนรู้ของนักเรียน
 


McGraw-Hill ค้นพบข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจดังนี้

 

- 66% ของผู้ตอบแบบสำรวจตอบว่า เป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนสามารถเรียนผ่าน mobile device

- 48% ตอบว่า การศึกษาผ่าน mobile device ช่วยให้ประหยัดเวลาในการเรียน โดย 77% ตอบว่าสามารถประหยัดเวลา 2 ถึง 5 ชั่วโมงต่ออาทิตย์

- 62% ตอบว่า การศึกษาผ่าน mobile device ช่วยเหลือในการเตรียมตัว และ 52% ตอบว่ามันช่วยเหลือในการทำความเข้าใจบทเรียน

- 79% ของนักเรียนตอบว่า เครื่องมือการเรียนควรจะต้องถูกประยุกต์ตามความต้องการของผู้เรียน และ 72% คิดว่า ณ ปัจจุบันเครื่องมือการเรียนยังไม่ถูกประยุกต์เพียงพอ

 

 

จากการพูดคุยกับนักเรียนและผู้สอน McGraw-Hill ค้นพบด้วยว่า นักเรียนในยุคปัจจุบันชอบที่จะเรียนแบบสั้นๆ กระชับในเนื้อหา และไม่จำกัดสถานที่ มากกว่าที่จะต้องนั่งเรียนแบบยาวๆ หรือค้นหาข้อมูลในห้องสมุดหลายๆชั่วโมง เราจึงสามารถคาดเดาได้ว่า การศึกษาผ่าน mobile device จะเติบโตในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

 

 

โลกของเราเปลี่ยนแปลงทุกวัน การศึกษาก็ไม่ต่างกัน ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และการใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป การบริโภคข้อมูลจึงแตกต่างจากแต่ก่อนโดยสิ้นเชิง จึงเป็นหน้าที่ของสถาบันและผู้สอน ที่จะต้องดัดแปลงวิธีการสอน และประยุกต์เครื่องมือที่มีอยู่ให้เข้ากับสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อการเผยแพร่ความรู้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน 

 

 

2