สร้างวิชาออนไลน์ใน 4 ขั้นตอนง่ายๆ


How to create an online course v2
37

 

 

ตอนนี้กระแสการศึกษาออนไลน์กำลังเป็นเทรนด์ลูกใหม่ที่ได้รับการจับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีโรงเรียนออนไลน์เกิดข้ึนมากมายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่สำคัญไปกว่านั้น โรงเรียนออนไลน์เหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างสูง ตัวอย่างเช่น Udemy ซึ่งแม้ว่าจะเพิ่งก่อตั้งได้เพียง 4 ปีเท่านั้น กลับมีนักเรียนกว่า 3 ล้านคนที่ลงเรียนออนไลน์กับพวกเขา และที่สำคัญคือ ผู้สอนที่สามารถสร้างชื่อเสียงในเว็บ Udemy สามารถทำเงินได้คนละหลักหลายล้านบาทเลยทีเดียว หรืออย่าง lynda.com ยักษ์ใหญ่ด้านการเรียนคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ก็มีนักเรียนกว่า 5 ล้านคนที่ลงเรียนด้วย นับว่ายุคนี้เป็นยุคทองของเหล่า infopreneur เลยทีเดียว สำหรับคนที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านต่างๆนั้น เพียงแค่อัดวีดีโอแบ่งปันความรู้ ก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับผู้อื่นอย่างง่ายดาย และสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้อีกด้วย

 

หลายคนอาจจะยังสงสัยว่า การจะเป็นครูสอนออนไลน์ จะต้องทำอย่างไรบ้าง? บทความนี้จะเล่าถึงขั้นตอนการทำวิชาออนไลน์ด้วยตัวเองแบบง่ายๆ แล้วคุณจะรู้เลยว่า การสอนผู้อื่นผ่านวิชาออนไลน์นั้นไม่ยากอย่างที่คิด

 

 

ขั้นตอนที่ 1 วางโครงสร้างหลักสูตร

 

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการสร้างวิชาเรียนขึ้นมาวิชาหนึ่ง (ไม่ว่าจะเป็นวิชาออนไลน์หรือไม่ก็ตาม) คำถามที่ผู้สอนต้องตอบให้ได้คือ เราจะสอนใคร? และ เขาจะได้รับประโยชน์อะไร? ยกตัวอย่างเช่น 

 

ฉันจะสอนวิชา Adobe Lightroom สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยแต่งรูปภาพมาก่อน เพื่อให้รูปที่เขาถ่ายดูสวยขึ้น

 

หรือ

 

ฉันจะสอนวิชา Adobe Lightroom สำหรับช่างภาพมืออาชีพ เพื่อให้เขาสามารถขายรูปถ่ายของตัวเองได้

 

จะเห็นได้ว่าทั้งสองตัวอย่างนี้ สอนโปรแกรม Adobe Lightroom เหมือนกัน แต่เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายนักเรียนนั้นต่างกัน เนื้อหาของสองวิชานี้จึงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยผู้สอนต้องเข้าใจก่อนว่า ณ ปัจจุบัน เวลาและเงินทองมีค่ามากกว่าแต่ก่อนมาก สาเหตุที่นักเรียนมาเรียนกับเรานั้น เพราะเขาต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายในเรื่องต่างๆ โดยใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด และด้วยจำนวนเงินที่น้อยที่สุด ดังนั้นนักเรียนก็จะเลือกวิชาที่ตรงความต้องการของเขาเท่านั้น แทนที่จะเลือกวิชาที่มีเนื้อหากว้างเกินความจำเป็น

 

เมื่อหากลุ่มเป้าหมายเจอแล้ว ผู้สอนต้องวางแผนวิชาออนไลน์ของตนว่าจะมีจำนวนวีดีโอเท่าไร และแต่ละวีดีโอมีเนื้อหาอย่างไร โดยความยาวของแต่ละวีดีโอนั้นไม่มีจำกัด แต่ขอให้จำไว้ว่า ความตั้งใจของนักเรียนนั้นมีจำกัด ความยาวของวีดีโอจึงควรจะกระชับที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

ตัวอย่าง template การวางแผนหลักสูตร

 

 

ขั้นตอนที่ 2 เตรียมบทพูดและเอกสารประกอบให้พร้อม

 

ในวีดีโอนี้ผมจะสอน...เอ่อ...วิธีการสร้าง...เอ่อ...pivot table บน Excel นะครับ ก่อนอื่นนะครับ ให้ทุกคนกด...เอ่อ แปปนะครับ...ผมว่ามันน่าจะอยู่ตรงนี้...อ่าเจอแล้วครับ...ให้กดปุ่มนี้ครับ

 

ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เสียเงินมาเรียนวิชานี้เราจะรู้สึกอย่างไรครับ คงจะรู้สึกไม่ดีแน่ และอาจบ่นหน้าคอมพิวเตอร์ว่า ผู้สอนไม่ได้เตรียมความพร้อมในการสอนเลย อย่างไรก็ตาม ผู้สอนไม่จำเป็นต้องพูดเป๊ะถูกต้อง 100% เหมือนนักพูดมืออาชีพ แต่อย่างน้อยผู้สอนควรต้องพูดให้ลื่นหู ไม่ตะกุกตะกัก เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนและเข้าใจได้ง่าย และแสดงให้เห็นว่าผู้สอนมีความตั้งใจที่จะสอนจริงๆ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การเตรียมตัวของผู้สอน ผู้สอนควรจะเตรียมสอนเสมือนกับว่าตัวเองต้องไปพูดที่หน้าห้อง ควรจะต้องมีสคริปท์ในระดับหนึ่ง คือไม่จำเป็นต้องละเอียดยิบ แต่ต้องรู้ในภาพใหญ่ว่าเราจะพูดอะไรในแต่บท และมีลำดับขั้นตอนอย่างไร การเตรียมตัวที่ดีจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมาก และที่สำคัญ มันจะช่วยให้ผู้สอนประหยัดเวลา จากการที่ไม่ต้องมาอัดวีดีโอซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

 

ขั้นตอนที่ 3 ถ่ายวีดีโอ

 

เมื่อเตรียมตัวพร้อมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการถ่ายวีดีโอ โดยการถ่ายวีดีโอนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ

 

 

แบบที่ 1: ถ่ายวีดีโอโดยการบันทึกหน้าจอคอมพิวเตอร์

 

รูปแบบนี้ถือเป็นรูปแบบที่ง่ายที่สุด ซึ่งเหมาะสมและเห็นได้บ่อยในการสอนการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และในกรณีที่มีเอกสารประกอบเช่น PowerPoint หรือ Excel สำหรับรูปแบบนี้ ขอเพียงเรามีโปรแกรมที่อัดหน้าจอเช่น Screenflow และ Camtasia Studio หรือโปรแกรมฟรีอย่าง Camstudio ผู้สอนก็สามารถอัดทั้งภาพทั้งเสียงได้

 

ตัวอย่างของวิชาออนไลน์รูปแบบที่ 1: CFA Level 1 - Alternative Investment Module

 

 

แบบที่ 2: ถ่ายวีดีโอแบบเห็นหน้าผู้สอน

 

รูปแบบนี้เหมาะกับการสอนด้านการพัฒนาตัวเอง และ soft skills ต่างๆ เช่น การพูด การขาย การพรีเซนต์ เป็นต้น และเห็นได้บ่อยในวีดีโอแนะนำวิชาออนไลน์ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการถ่ายทำนั้นไม่ได้สูงอย่างที่คิด ณ ปัจจุบันกล้องถ่ายรูปชนิดเล็กหรือแม้กระทั่งสมาร์ทโฟนก็สามารถถ่ายวีดีโอในระดับ 1080p ได้แล้ว ทำให้คุณภาพออกมาคมชัด ไม่จำเป็นต้องจ้างภาพมืออาชีพเพื่อถ่ายวีดีโออีกต่อไป

 

ตัวอย่างของวิชาออนไลน์รูปแบบที่ 2: 7 ปัญหาการพูด คุณแก้ได้

 

 

แบบที่ 3: ผสมผสาน

 

ในหนึ่งวีดีโอ ผู้สอนอาจทำให้วิชาของตนมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยการสลับภาพไปมาระหว่างตัวผู้สอนและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ข้อดีที่เห็นได้ชัดของการสอนในรูปแบบนี้คือ ทำให้การเรียนการในวิชานั้นๆดูมีสีสันเพิ่มขึ้น และทำให้นักเรียนรู้สึกเหมือนกำลังนั่งในห้องเรียนจริง เพราะเวลาเรียนในห้องเรียน สายตาของนักเรียนจะสลับไปมาระหว่างผู้สอนและกระดาน ซึ่งการถ่ายทำในรูปแบบผสมผสานจะต้องมีการเพิ่มขั้นตอนการตัดต่ออีกขั้นตอนหนึ่ง โดยจะอธิบายต่อไปในบทความนี้

 

ตัวอย่างของวิชาออนไลน์รูปแบบที่ 3: 25 Basic Essentials of Adobe Photoshop CC

 

 

แบบที่ 4: ถ่ายวีดีโอจากงานสัมมนา

 

ในกรณีที่ผู้สอนมีการสอนในงานสัมมนาอยู่แล้ว ผู้สอนเพียงแค่ตั้งกล้องตัวหนึ่งไว้ข้างหลังห้อง เพื่อถ่ายทำในขณะที่ตนกำลังทำการสอน แล้วนำวีดีโอดังกล่าวมาสร้างเป็นวิชาออนไลน์ ซึ่งข้อดีของการถ่ายทำในรูปแบบนี้คือ ผู้สอนไม่ต้องลงมือผลิตวิชาออนไลน์ขึ้นมาใหม่ ทำให้ประหยัดเวลาในการถ่ายทำ แถมยังสามารถเก็บคำถามของผู้เรียนในห้องได้ ทำให้การเรียนออนไลน์เหมือนการเรียนในห้องเรียนจริงมากขึ้นด้วย แต่ข้อเสียคือ อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กล้องคุณภาพสูง และช่างกล้องมืออาชีพที่เข้าใจวิธีการใช้กล้องและเรื่องคุณภาพเสียงเป็นอย่างดี 

 

 

ขั้นตอนที่ 3.5 อัดเสียง (สำหรับผู้ที่ต้องการคุณภาพเสียงที่ดี)

 

เนื่องจากผู้สอนทุกคนทุกคนมีความต้องการให้วิชาออนไลน์ของตนนั้นออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คุณภาพเสียงจึงมีความสำคัญมากเช่นกัน โดยปกติ กล้องถ่ายวีดีโอและโปรแกรมบันทึกหน้าจอทุกชนิดสามารถเก็บเสียงของผู้สอนได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ทว่า เวลาที่เราสอนนั้น ตัวเราอาจจะอยู่ไกลจากกล้องวีดีโอ ทำให้เสียงของผู้สอนนั้นไม่ชัดเจนเสมือนเวลาเราพูดคุยกันต่อหน้า และมีความเสี่ยงสูงที่จะมีเสียงรบกวนเข้ามา เช่น เสียงพัดลม เสียงแอร์ เสียงผู้อื่นคุยกัน เป็นต้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อประสบการณ์การเรียนของนักเรียน

 

วิธีการแก้ไขที่ประหยัดที่สุดในเรื่องคุณภาพเสียงคือ ในขณะที่ผู้สอนกำลังสอนปกติอยู่นั้น ผู้สอนอัดเสียงของตัวเองอีกทางหนึ่งไปด้วย โดยผ่านเครื่องอัดเสียงที่มีไมค์เล็กๆเหน็บอยู่บนเสื้อ (สามารถอัดเสียงผ่านสมอลล์ทอล์คของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนได้เช่นกัน) เราก็จะได้คลิปเสียงแยกออกมาอีกอันหนึ่ง โดยคลิปเสียงนี้จะเป็นคลิปเสียงที่คุณภาพคมชัด และปราศจากเสียงรบกวนภายนอก หลังจากนั้นเราจะนำคลิปเสียงนี้ไปรวมกันกับวีดีโอที่เราบันทึกได้ในขั้นตอนที่ 3 โดยผ่านโปรแกรมตัดต่อวีดีโอ ซึ่งจะอธิบายในขั้นตอนต่อไป

 

ตัวอย่างคุณภาพเสียงจากการใช้เครื่องอัดเสียงนอก: ใช้ Excel อย่างโปร

 

 

ขั้นตอนที่ 4 ตัดต่อวีดีโอ

 

การตัดต่อวีดีโอนั้นมีความสำคัญต่อการถ่ายทำวีดีโอในรูปแบบผสมผสาน รูปแบบสัมมนา และผู้ที่ต้องการให้เสียงมีคุณภาพที่ดี (ตามขั้นตอนที่ 3.1) โปรแกรมตัดต่อสามารถทำให้เราสลับภาพไปมาได้ ใส่เอฟเฟค และการ synchronize เสียงที่ถูกบันทึกจากเครื่องอัดเสียงภายนอก ซึ่งการตัดต่อวีดีโอนั้นไม่ยากอีกต่อไป หลายๆบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ได้ออกโปรแกรมตัดต่อวีดีโอ อาทิ iMovie และ Final Cut Pro ซึ่งง่ายสำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ส่วนโปรแกรมบันทึกหน้าจอเช่น Screenflow และ Camtasia ก็รองรับการตัดต่อวีดีโอเช่นเดียวกัน โดยทุกโปรแกรมมีหลักการใช้งานที่ไม่ต่างกัน ถ้าเราใช้อันใดอันหนึ่งเป็นแล้ว การหัดใช้โปรแกรมของค่ายอื่นก็เป็นเรื่องง่าย

 

เท่านี้ก็เป็นการสร้างวิชาออนไลน์ผ่านขั้นตอนง่ายๆ 4 ขั้นตอน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าผู้สอนสามารถสร้างวิชาออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง และใช้อุปกรณ์ที่ทุกคนมีกันอยู่แล้ว ขอเพียงคุณเป็นคนมีความสามารถและมีใจที่อยากแบ่งปันความรู้ให้ผู้อื่น คุณก็สามารถสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมนี้ได้

 

 

หากคุณสนใจสอนออนไลน์กับเรา SkillLane มีทีมงานที่ช่วยเหลือผู้สอนทุกขั้นตอน และรองรับรูปแบบการถ่ายทำทั้ง 4 รูปแบบ โดยคุณสามารถติดต่อ SkillLane ได้ที่ www.skilllane.com/teach หรืออีเมล์ teach@skilllane.com

 

 

 

37