Disrupt Yourself! 7 วิธีเอาตัวรอด ก่อนถูกเด้งในยุคดิจิทัล


04 121218 7%e0%b8%a7%e0%b8%b4%e0%b8%98%e0%b8%b5%e0%b9%80%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b8%ad%e0%b8%94 1 1200x630
21
ถ้าคุณไม่พัฒนาตัวเองใหม่เสียตั้งแต่ตอนนี้ คนอื่นก็พร้อมจะมาแทนที่คุณ
“If you don’t disrupt yourself, someone else will”
NICK JOHNSON, Uber’s CEO | SEP 21, 2018



ข่าวธุรกิจหลายภาคอุตสาหกรรมกำลังปรับโครงสร้าง เปลี่ยนคนทำงานจำนวนมากเพื่อความอยู่รอดในโลกดิจิทัล อาจทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ขึ้นมาในใจ เริ่มต้นกังวลถึงอนาคตของตัวเอง ลังเลในใจว่าคุณยังมั่นคงดีอยู่รึว่าจะต้องเบนเข็มไปทางไหนต่อ หรือแย่หน่อยถ้าบางคนอาจกำลังตกขบวน ไม่ได้ไปต่อในสายอาชีพที่คุณอยู่แล้วก็เป็นได้ในตอนนี้


ความกลัวบางทีก็เป็นเรื่องดีนะครับ แค่คุณไม่นิ่งนอนใจ สนใจอ่านเรื่องนี้ เราก็ขอจับมือแสดงความยินดีกับคุณก่อน ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่คุณ ‘รู้ตัว’ และ ‘ไม่ประมาท’ แล้วเรามามองหาวิธีสานต่ออนาคตของคุณให้สดใสกัน


คำว่า ‘Disrupt’ นี่ถ้าให้แปลตรงๆ ก็คือ การทำลายล้มล้างสิ่งที่มีอยู่เดิม ก็เหมือนที่ดินรกร้างที่ต้องแพ่วถางหญ้ารกๆ ออกก่อนปลูกพืชผลให้งอกงาม ถ้าคุณเป็นงูก็ต้องลอกคราบใหม่ เพื่อจะได้มีเกล็ดสีสวยๆ หรือเซลล์ในตัวมนุษย์เราเองก็เช่นกัน ทุกอย่างจะต้อง ‘ผลัดเปลี่ยน’ ไปตามธรรมชาติด้วยกันทั้งนั้น เพื่อนำสิ่งใหม่เข้ามาแทนที่ คุณจึงจำเป็นต้อง Disrupt Yourself อยู่เสมอไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ถ้าหากคุณไม่อยากให้ใครมาแทนที่ตัวคุณ
SkillLane มี  7 วิธีเอาตัวรอด ก่อนคุณจะถูกเด้งในยุคดิจิทัล มาฝากไว้ให้คิดครับ




1. ก่อนจะเปลี่ยน... คุณรู้ใจตัวเองดีพอแล้วหรือยัง


จะไปไหนก็ต้องรู้จุดหมายใช่ไหมล่ะครับ
สำหรับมนุษย์เงินเดือน คุณควรจะตั้งเป้าหมายเลือกเส้นทางอาชีพ
ที่จะยังชีพไปจนกว่าคุณจะเกษียณ หรือจนกว่าจะมีแผนการอื่นๆ


จุดหมายปลายทางยังหมายรวมถึง ภาพบรรยากาศการทำงานแบบที่คุณชอบด้วยนะครับ ว่าตัวเราอยากจะไปอยู่ในที่แบบไหน อะไรคือสิ่งสำคัญต่อชีวิตคุณ กำหนดเป้าหมายอนาคต แล้วเขียนออกมาอย่างละเอียดชัดเจน เห็นภาพให้มากที่สุด แล้วความทะยานอยากจะช่วยให้คุณพัฒนาตนเอง หาหนทางทุกความเป็นไปได้เพื่อจะไปให้ถึงจุดมุ่งหมายนั้น


ทุกๆ ครั้งที่คุณต้องเลือกเส้นทางเดินใหม่ ขอให้คุณกลับมาอ่านทบทวน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกการตัดสินใจนั้นยังส่งเสริมเส้นทางอาชีพในอนาคตตามที่คุณวางแผนไว้อยู่รึเปล่า


แต่ต้องระวังสักนิดนะครับ ความทะเยอทะยานมักต้องใช้แรงปรารถนา (Passion) ขับเคลื่อน ก็เหมือนน้ำมันที่มีวันหมด เราจึงควรเก็บเอาพลังงานดีๆ นั้นเก็บไว้ใช้ให้ถูกที่ถูกเวลาด้วย เพราะถ้ามันเหือดหายไปเสียก่อน อาจจะพรากแรงกายให้หมดไฟไปด้วย จนต้องมาเสียเวลากอบกู้ตัวเองใหม่ ทั้งการงานการเงินก็อาจจะพังตามๆ กันไปด้วยก็ได้ครับ



2. ถอยกลับมาย้อนมองสิ่งที่คุณมี… เห็นคุณค่าในตัวเอง


ลองมาย้อนดูความสามารถ และประสบการณ์ตามเส้นทางอาชีพของคุณที่ผ่านๆ มา แล้วไล่เรียงทักษะที่คุณคิดว่าตัวคุณเองถนัด หรือทำได้นานๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรักความชอบเปี่ยมล้นก็ได้นะครับ เพราะโอกาสจะได้ทำงานที่รัก และทำเงินได้ดีด้วย อาจมีไม่เพียงพอสำหรับทุกคน


เราก็ต้องยืนอยู่บนโลกแห่งความจริงกันล่ะครับ คำนึงถึงทักษะความสามารถที่มีอยู่ ดูต้นทุนเวลา ชั่งน้ำหนักทางเลือกต่างๆ ให้พอดีกับตัวเรา ถ้าเรายังไม่อยู่ในจุดที่เลือกได้ ก็อย่าเพิ่งไปไล่ตามภาพฝันแบบไม่มีความรู้ เพราะอาจจะผิดหวังกลับมาง่ายๆ ทำลายกำลังใจของตัวเองเปล่าๆ อย่าปล่อยให้ความฝันของคุณกลับกลายเป็นฝันร้าย คอยกัดกินใจคุณให้หดหู่เลยครับ




3. ใช้ทักษะเดิมไปเปิดโอกาสใหม่… สำรวจให้เจอว่าใครยังต้องการคุณ


แม้อุตสาหกรรมที่คุณอยู่จะเริ่มร่อแร่เต็มที หรือมีแนวโน้มในอนาคตว่าจะหดตัว แต่คุณอย่าเพิ่งผลีผลามหนีตายโดยลาออกมาล่าฝันโดยยังไม่รู้ทิศทางว่าตนเองจะไปไหนต่อ


ลองเลื่อนสายตามามองอุตสาหกรรมใกล้เคียงจากที่คุณเคยอยู่ สำรวจโลกรอบข้างทีละนิด ลองคิดทำการบ้านว่าเราจะกระเถิบตัวเข้าไปทีละหน่อยได้ยังไง โดยที่ยังใช้ทักษะเดิมของคุณนี่แหละเจาะทะลวงเข้าไป


ถ้าบริษัทของคุณยังอยู่ดี ก็ลองเสนอตัวทำโปรเจคที่จะช่วยสร้างผลงานดีๆ ไว้ปกป้องตัวคุณ แม้ในวันที่ต้องตกงาน ผลงานเหล่านั้นก็ยังอาจช่วยคุณเอาไว้ได้อีกครั้ง


ลองส่งประวัติ และผลงาน พร้อมจดหมายแนบแสดงเจตจำนงอันมุ่งมั่น แสดงทัศนคติ และความจริงใจใส่ลงไปในจดหมายแนะนำตัว ว่าทำไมคุณถึงอยากร่วมงานด้วย และตัวคุณเหมาะกับงานนั้นอย่างไร


บ่อยครั้งที่การฝากประวัติเอาไว้โดยที่ยังไม่ทันมีประกาศเปิดรับ หรือทั้งๆ ที่ยังไม่เคยมีตำแหน่งงานนั้นในบริษัทมาก่อน หลายๆ คนก็ได้งานที่ถูกใจจากวิธีการนี้นี่แหละครับ บางครั้งเราก็ต้องใช้วิธีเชิงรุกเข้าสู้ แล้วโอกาสจะมาหาคนที่ออกตามหา และพร้อมมากกว่า




4. พัฒนาทักษะใหม่... เพื่อสร้างจุดแข็งที่ใช่กว่า


ลองเก็บมาคิดให้ดีว่าคุณยังขาดทักษะอะไร ต้องสั่งสมประสบการณ์แบบไหน จึงจะคู่ควรกับโอกาสใหม่ที่คุณต้องการ


อย่าคิดแค่เพียงว่าคุณเก่งเรื่องไหน แต่คุณต้องทำให้ตัวเองมีทักษะสำคัญบางอย่าง ที่อาจมีอยู่แล้วในตัวคุณ ลองเลือกเฟ้นออกมาลับคม ให้คุณมีอาวุธครบมือขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสที่จะอยู่เหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นที่มีทักษะเดิมๆ แบบเดียวกัน อย่างเช่น ดีไซเนอร์ผู้มีทักษะอย่างนักวิเคราะห์การตลาด นักเขียนบทความที่รู้จักการทำการตลาดด้วย SEO หรือเชฟผู้มีความรู้ด้านโภชนาการ จนคิดสูตรอาหารสุขภาพที่อร่อยด้วย เป็นต้น


ถ้าคุณยังไม่มีจุดแข็งก็ต้องเรียนรู้ และสร้างมันขึ้นมา หมั่นพัฒนาเครื่องมือที่จะออกแบบการทำงานของคุณให้มีประสิทธิภาพ และสอดประสานทักษะมากกว่าหนึ่งอย่าง เพื่อจะตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค และองค์กรในอนาคตได้ ไม่ว่าจะมีคนจ้างให้คุณทำงานนั้นแล้วหรือไม่ คุณควรมีผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม ไว้แสดงให้เห็นว่าคุณเอาทักษะในตัวมาหลอมรวมกันออกมาใช้จริงได้อย่างไร ทำให้พวกเขาทึ่ง จนต้องจ้างคุณดูสิครับ





5. ลงสู้ในสนามที่คนมีคุณสมบัติอย่างคุณเท่านั้นจะโดดเด่น


สาเหตุที่หลายๆ บริษัทปรับโครงสร้างลดพนักงานออก ก็เพราะบางตำแหน่งอาจจะไม่จำเป็นแล้ว ใช้เครื่องจักร (AI) ประหยัดต้นทุนกว่า หรือเสียเวลาเกินไปที่จะให้มนุษ์อย่างเราทำ ลึกๆ แล้วไม่มีใครอยากทำงานเป็นเครื่องจักรไม่ใช่หรือครับ งั้นเราจะกลัวจักรกลไปทำไม เรามาทำสิ่งที่หุ่นยนต์ทำแทนเราไม่ได้ดีกว่า แล้วรีบค้นให้พบสนามที่คนที่มีทักษะอย่างคุณยังมีคู่แข่งน้อย แถมอาจให้ผลตอบแทนสูงกว่าอุตสาหกรรมเดิมของคุณอีกด้วย




6. กล้าเสี่ยงให้ถูกที่... รู้ว่าจะเริ่ม และเลิกพยายามตอนไหน


ช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้คุณลังเลสับสน และไม่มั่นคงทางจิตใจได้ แน่นอนว่าอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นระหว่างทางได้เสมอ หลายครั้งคุณอาจตัดสินใจพลาด อย่าไปกลัวครับ ถ้าคุณกระโจนเข้าไปได้ ก็หาทางกระโจนออกมาได้


ลองเสี่ยงดูอย่าย่อท้อ จนกว่าจะเจอ และแน่ใจว่าเป็นเส้นทางที่คุณตามหามานาน แค่ได้โอกาสลองก็โชคดีกว่าคนอื่นแล้วล่ะครับ สู้ดูให้เต็มที่ก่อน แต่ถ้างานนั้นมีแนวโน้มว่า ทนทำแล้วจะได้ไม่คุ้มเวลาที่ทุ่มเทไป หรือไม่ทำให้คุณได้แสดงศักยภาพ หรือพัฒนาทักษะความสามารถใหม่ๆ ให้แก่คุณเอง ก็ควรจะรู้ตัวว่าจะเลิกทนตอนไหน


ยิ่งเป้าหมายของคุณชัดเท่าไหร่ คุณจะใช้เวลาลองไม่นานก็จะรู้ ขอแค่การเลิกล้มนั้นมีเหตุผลเพียงพอจะตอบใจตัวเองได้ก็พอแล้ว ใครจะมาเข้าใจสถานการณ์ของคุณดีเท่าตัวคุณเองล่ะครับ


สู้เอาสมอง เวลา และพลังใจอันมีค่าของคุณไปพยายามใหม่ในโอกาสหน้าจะดีกว่า
แต่แน่นอนช่วงเวลาแห่งการดิ้นรนนั้นจะไม่เคยง่ายแน่นอน กว่าคุณจะโยกย้ายไปสู่ดินแดนใหม่ที่คุณจะเติบโตต่อได้ไม่ตีบตัน ก็ต้องใช้ความพยายาม ความสามารถ และจังหวะเวลาทั้งนั้นล่ะครับ




7. แน่วแน่ และสม่ำเสมอ


นับวันงานในอนาคตต้องการคนเก่งในเชิงลึก เช่น นักคิดวิเคราะห์ และนักคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือความเป็นมนุษย์ มีหัวใจ มีความยืดหยุ่นสูง และพร้อมร่วมมือทำงานเป็นทีม เพื่อช่วยกันแก้ทุกปัญหาให้ลุล่วงไปได้ ซึ่งจะมีเรื่องใหม่ๆ ที่ท้าทายความสามารถของเราไม่ได้หยุดหย่อน


หากคุณหยุดเรียนรู้เมื่อไหร่ ก็จะมีคนก้าวล้ำไปก่อนคุณ แล้วคุณก็จะมีโอกาสถูกเด้งออกจากบริษัทดีๆ ที่พยายามแทบตายกว่าจะได้ก้าวเข้ามา อย่าเผลอติดสบาย และเคยชินเสียจนลืมไปว่าโลกยุคดิจิทัลหมุนเร็วขึ้นทุกวันครับ


คุณจะได้ไปต่อในสายงานนั้นๆ โดยไม่หลุดวงโคจรง่ายๆ หรือมีดีพอจะเปลี่ยนโยกย้ายไปยังเส้นทางใหม่ๆ ไม่มีวันตกงานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองล้วนๆ ล่ะครับ






SOURCE :


How to Disrupt Yourself — 5 Lessons from People Who’ve Done It Themselves
https://www.linkedin.com/pulse/how-disrupt-yourself-5-lessons-from-people-whove-done-whitney-johnson

Putting the Power of Disruptive Innovative to Work by Whitney Johnson
https://thekeypoint.org/2015/10/28/disrupt-yourself/

Disrupt yourself | Four Principles of Self-Disruption
https://hbr.org/2012/07/disrupt-yourself-3

Disrupt Yourself - 7 Steps To Achieve Mastery And Success
https://www.huffingtonpost.com/vala-afshar/7-ways-to-disrupt-yoursel_b_9196022.html

If you don’t disrupt yourself, someone else will

https://www.salesforce.com/blog/2018/09/uber-dara-khosrowshahi-disruption.html



21