3 หลักคิดพิชิตอาณาจักร Amazon ของ Jeff Bezos


Bannerblog 21122016
0
คุณรู้จักเว็บไซต์ที่ขายสินค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์สระดับโลกเจ้าไหนบ้างครับ? หลายคนคงจะบอกว่า Amazon, E-Bay, Alibaba, Taobao, Tmall, Walmart, BestBuy ฯลฯ แล้วกว่าจะสามารถโด่งดังระดับโลกได้ คุณคิดว่าเขามีปัจจัยความสำเร็จอะไรบ้าง?

จากข้อมูลของ eMarketer คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์สอาจมีมูลค่าสูงถึง 1.915 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้เป็น 68.76 ล้านล้านบาท จากมูลค่าตลาดทั้งหมด Amazon.com มีรายได้ปีที่แล้ว อยู่ที่ 104.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยได้เป็น 3.75 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่า GDP ประเทศไทยเกือบ 2 เท่า! ทั้งยังมีมูลค่าแบรนด์ติดอันดับ 12 ของโลก (จัดอันดับโดย Forbes.com) หรืออันดับ 1 ในเว็บค้าปลีกออนไลน์ทั่วโลก 


ใช่แล้วครับ บทความวันนี้เราจะมาพูดถึงยักษ์ใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์สอย่าง Amazon.com (อเมซอน) ที่เกิดจากผู้สร้างอย่างเจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ที่ในตอนแรกเขาบังเอิญไปอ่านเจอบทความหนึ่งในปี 1994 พบว่าแนวโน้มการใช้อินเตอร์เน็ต ณ ตอนนั้นเพิ่มขึ้นไปถึง 2,300 เปอร์เซ็นต์ จึงเห็นโอกาสที่คนจะหันมาซื้อของออนไลนืเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน ทำให้ในตอนแรกเขาเลือกจะเปิดร้านขายหนังสือออนไลน์และอุปกรณ์เกี่ยวกับดนตรี เมื่อเขารู้ว่าเขาอยากทำอะไร สิ่งต่อไปก็คือการลาออกจากงานประจำเดิม


ประวัติขององค์กรคงหาอ่านกันได้ไม่ยากในห้องสมุดออนไลน์แบบนี้ แต่ปัจจัยความสำเร็จของ Amazon ที่เกิดจากผู้ก่อตั้งและผู้บริการอย่าง Jeff Bezos (เจฟฟ์ เบซอส) ในอีกมุมหนึ่งที่คุณยังไม่เคยอ่านที่ไหนมาก่อน

 


“If you can increase the number of experiments you try from a hundred to a thousand, you dramatically increase the number of innovations you produce.” คำพูดส่วนหนึ่งของ Jeff Bezos ที่ให้สัมภาษณ์ในงานวิจัยชื่อ The Innovator’s DNA โดย Hal Gregersen ร่วมด้วย Jeff Dyer at BYU and Clayton Christensen at Harvard Business School
หลักคิดที่ทำให้ Jeff Bezos ส่ง Amazon.com ก้าวไปเป็นอันดับ 1 ในตลาดค้าปลีกออนไลน์คือเขาไม่หยุดคิด และไม่หยุดทดลองสิ่งใหม่ๆ มีบริการใหม่ๆ มาให้พวกเราได้เสียเงินกันอยู่เสมอ  เช่น Amazon Prime, Kindle, Amazon Prime Air, Amazon Dash, Amazon Fresh ฯลฯ 


เรามาทำความรู้จักกับหลักคิด 3 ข้อที่เจฟฟ์ยึดถือไว้ตลอดที่ทำธุรกิจ ดังนี้


1 - รู้จักลองอะไรใหม่ๆ ทำให้ได้อะไรเจ๋งๆ กลับมาเสมอ


ใครจะไปรู้ว่าการที่เขาแยกชิ้นส่วนรถไถของปู่ของเขาจะเป็นการวางรากฐานความคิดแบบมีเหตุมีผล ทำให้เขาชอบที่จะหยิบจับอะไรมาทดลอง มาแยกชิ้น มาประกอบ ทำให้เขามีลักษณะ Divergent Thinking หรือมีความคิดอิสระ ไม่สนใจว่าที่คิดมาจะผิดหรือถูก แต่ขอให้ได้คิดและทำออกมา มันจะทำให้ปริมาณของนวัตกรรมในสมองของเราเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา เมื่อเอามาประกอบกับเหตุผลและความเป็นไปได้ ก็จะได้สิ่งที่ดีที่สุดให้กับบริษัท


2 - รื้อสิ่งเก่าเพื่อสร้างสิ่งใหม่


ในที่นี้ Deconstruction ไม่ได้หมายถึงการทำลาย แต่หมายถึงการฉีกรื้อรูปแบบเดิมทั้งความเชื่อและความคิด ให้แตกต่างออกไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างตอนก่อตั้ง Amazon.com เจฟฟ์ก็เห็นว่าอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตในปี 1994 เติบโตขึ้นกว่า 2,300 เปอร์เซ็นต์ เขาก็เลยรื้อความคิดเดิมที่ในตอนนั้นซื้อขายสินค้าซึ่งหน้า ที่เราต้องเดินไปซื้อสินค้าถึงร้านที่มีสินค้านั้นวางจำหน่าย แต่เขากลับลองที่จะขายผ่านออนไลน์ เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งนี้มันกำลังจะมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการซื้อขายของคนเราในอนาคต (ตอนนั้น) เหมือนกับที่คุณรู้จักตั้งคำถามกับสิ่งที่มีอยู่เดิมว่ามันดีพอสำหรับตอนนี้แล้วหรือยัง ถ้ายังก็แสดงว่ายังมีวิธีการหรือสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังรอให้เราค้นพบ เพื่อเติมเต็มความต้องการได้ดีขึ้น


3 - อย่าไปกลัวที่จะล้มเหลว ก่อนจะได้ลองทำ


การทดลองคือหนทางที่จะทำให้ความคิดกลายเป็นจริงได้ ช่วงแรกที่อมเซอนขายหนังสือผ่านออนไลน์จนประสบความสำเร็จ เจฟฟ์จึงเปิดศูนย์กระจายสินค้าในสหรัฐฯ หลายแห่งจนมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาหุ้นตกต่ำลง แต่มันกระทบในระยะสั้น เพราะการมีศูนย์กระจายทำให้ส่งสินค้าถึงผู้รับเร็วขึ้น ผู้รับก็พอใจมากขึ้นจนรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
สิ่งที่เจฟฟ์ทำกำลังบอกพวกเราว่า อย่าไปหมกมุ่นกับผลลัพธ์ให้มันมากนัก สนใจวิธีการดีกว่า สิ่งสำคัญคือ ลองและเรียนรู้ (Try and Learn)จากสิ่งที่ได้ทำ ให้จำไว้เสมอว่าอย่ายอมแพ้เมื่อคุณล้มลง เพราะความพยายามและการลงมือทดลองทำจะนำคุณไปเจอกับสิ่งที่คุณไม่คาดคิดและไอเดียเจ๋งๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งทดลองทำ ความจริงยิ่งอยู่ใกล้



I knew that if I failed I wouldn’t regret that, but I knew the one thing I might regret is not trying– Jeff Bezos

 

น่าทึ่งไหมล่ะครับ?


ความสำเร็จของอเมซอนมาจากวิสัยทัศน์ของตัวผู้ก่อตั้งอย่าง Jeff Bezos เองเพราะเขาเชื่อมั่น และไม่หยุดที่จะเดินไปข้างหน้า ชีวิตของเขาคือการเรียนรู้สิ่งรอบตัวเพื่อนำมารื้อ แก้ไข หรือสร้างขึ้นใหม่กลายเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม หากเขาหยุดอยู่เพียงร้านหนังสือและขนส่งสินค้าในตอนแรก สิ่งที่เขาทำได้ดีก็เป็นแค่นักขายที่เก่ง แต่ไม่ใช่หนึ่งนักสร้างสรรค์นวัตกรรมเหมือนปัจจุบันที่ทำให้เราไม่ได้บอกว่า Amazon.com เป็นอีคอมเมิร์สอย่างเดียวแต่เขายังผลิตนวัตกรรมดีๆ มาเสริมและสร้างโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น


สิ่งที่เจฟฟ์ทำไม่มีใครรู้หรอกว่าจะสำเร็จไหม แต่สิ่งที่เขารู้คือ เขาต้องการอะไร ซึ่งสิ่งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้เขาไม่ยอมแพ้ จนบริษัทเติบโตจนสามารถยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งได้จนถึงตอนนี้ท่ามกลางสนามของตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่ร้อนระอุแห่งโลกใบนี้!



เขาไม่กลัวว่าจะขายไม่ได้ แต่เขากลัวว่าจะไม่ได้ลงมือทำมากกว่า

 

Source Infomation:

http://www.cnbc.com/2016/10/27/amazon-reports-third-quarter-earnings.html

https://www.emarketer.com/Article/Worldwide-Retail-Ecommerce-Sales-Will-Reach-1915-Trillion-This-Year/1014369

http://fortune.com/2015/09/17/amazon-founder-ceo-jeff-bezos-skills/

http://www.forbes.com/powerful-brands/list/


Source - Photo:

http://www.msicollege.com/wp-content/uploads/2015/10/Amazon-Jeff-Bezos-min-1-e1446212039204.jpg

0